Bitazza Thailand Blog

ทำความรู้จักเหรียญคริปโตฉบับมือใหม่ เข้าใจง่ายใน 5 นาที

Cryptocurrency Network Concept

 

หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า “คริปโต” หรือ “เหรียญคริปโต” ผ่านหูกันมาบ้าง ปัจจุบันเหรียญคริปโตกำลังได้รับความนิยมและถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งในการซื้อขายออนไลน์ การลงทุน และอื่น ๆ อีกมากมาย แล้วเราควรรู้เรื่องนี้แค่ไหนถึงจะไม่ตกเทรนด์?

บทความนี้จะพาไปรู้จักกับเหรียญคริปโตแบบง่าย ๆ สไตล์มือใหม่ ที่เริ่มตั้งแต่ความหมายว่าเหรียญคริปโตคืออะไร ไปจนถึงวิธีการเลือกเหรียญ และรู้จักเหรียญคริปโตที่น่าลงทุนให้เข้าใจครบถ้วนภายใน 5 นาที พร้อมเปิดประตูสู่โลกการลงทุนอย่างมั่นใจ ถ้าพร้อมแล้ว มาเริ่มกันเลย!

 


เหรียญคริปโต คืออะไร

เหรียญคริปโต (Cryptocurrency) คือ สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนมูลค่า หรือลงทุน โดยทำงานบนเทคโนโลยีที่เรียกว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) ไร้การพึ่งพาจากธนาคารหรือรัฐบาลในการควบคุม ทำหน้าที่เหมือนเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เงินบาท เงินเยน เงินดอลลาร์ แต่จะไม่สามารถจับต้องหรือพิมพ์ออกมาเป็นเหรียญหรือธนบัตรได้ 

อธิบายง่าย ๆ ปกติแล้วการโอนเงินจำเป็นต้องใช้บัตร ATM หรือผ่านแอปธนาคาร ซึ่งธนาคารจะเป็นคนดูแล และยืนยันว่าเงินถูกโอนไปจริง ในทางกลับกันสำหรับคริปโต เมื่อต้องการโอนเงินดิจิทัล ก็สามารถทำการโอนได้จากทุกที่ทั่วโลก โดยปราศจากธนาคารที่เป็นตัวกลาง แต่จะมีระบบคอมพิวเตอร์ที่ช่วยตรวจสอบและยืนยันการทำธุรกรรมนั้นแทน

 


Cryptocurrency Tokens and Coins

 

ประเภทของเหรียญคริปโต

  1. Payment Cryptocurrency: คริปโตที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อสินค้าและบริการ เช่น Bitcoin (BTC) 
  2. Tokens: เหรียญที่ทำงานบนบล็อกเชนอื่น เนื่องจากไม่มีบล็อกเชนเป็นของตัวเอง โดยสามารถแบ่งย่อยออกมาได้หลายประเภท 
    • Utility Token: โทเคนที่ใช้ในการเข้าถึงบริการบนแพลตฟอร์มหรือระบบนิเวศนั้นๆ เช่น Ether (ETH) เป็น Utility Token ของ Ethereum
    • Security Token: โทเคนที่เป็นตัวแทนของสินทรัพย์ในโลกจริง เช่น หุ้นบริษัท กองทุน อสังหาริมทรัพย์
    • Governance Token: โทเคนที่ให้ผู้ถือแสดงสิทธิ์ในการโหวต หรือสิทธิ์อื่น ๆ ที่เป็นการเข้าร่วมตัดสินใจเพื่อร่วมกำหนดทิศทางของบล็อกเชน เช่น Uniswap
    • Non-Fungible Token (NFT): โทเคนที่มีลักษณะเฉพาะตัว ใช้แทนความเป็นเจ้าหรือสิทธิ์ในการครอบครองงานศิลปะ เพลง ของสะสม หรือสิ่งของดิจิทัลอื่น ๆ และไม่สามารถทดแทนกันได้ 
  1. Stablecoins: เหรียญคริปโตที่มีมูลค่าคงที่ โดยจะผูกกับสกุลเงินที่มีเสถียรภาพสูงและความผันผวนของราคาต่ำ เช่น USDT (Tether) มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
  2. DeFi (Decentralised Finance): คริปโตที่ใช้ระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ ปราศจากการพึ่งพาตัวกลาง เช่น Uniswap และ Aave
  3. Meme Coins: เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นจากแรงบันดาลใจของมีมบนโลกออนไลน์ เช่น Shiba Inu (SHIB) และ Pepe (PEPE) 

 


Gold Bitcoin and Stack of Crypto on Dark Background

 

เหรียญคริปโตยอดนิยมในปี 2025

1. Bitcoin (BTC)

Bitcoin เปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 นับเป็นคริปโตเคอร์เรนซีเหรียญแรกของโลก ถูกพัฒนาโดย ซาโตกิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) และได้กลายเป็นเหรียญที่มีอิทธิพลมากที่สุดในวงการคริปโต ​ณ ปัจจุบัน นักเทรดหลาย ๆ คนมักเรียกบิตคอยด์ว่า “เจ้าพ่อแห่งโลกคริปโต” และยังถูกมองว่าเป็นแหล่งเก็บมูลค่า ที่คล้ายกับทองคำในโลกจริง ทำให้หลายคนเชื่อว่า Bitcoin เป็นเหรียญคริปโตที่น่าลงทุนในระยะยาวที่สุด

2. Ethereum (ETH)

Ethereum เป็นหนึ่งในคริปโตที่มีมูลค่าตลาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก Bitcoin ถูกออกแบบให้แตกต่างจากการเป็นสกุลเงินดิจิทัลทั่วไป โดยเป็นแพลตฟอร์มบล็อกเชนที่รองรับการสร้างแอปพลิเคชันแบบกระจายศูนย์ (dApps) และสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ทำให้สามารถใช้งานได้หลายหลาย ไม่ว่าจะเป็น NFT (Non-Fungible Token), DeFi (Decentralized Finance) และโปรเจกต์ Web3

3. Solana (SOL)

Solana เป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่มีความโดดเด่นในเรื่องของความเร็วในการทำธุรกรรม ที่สามารถรองรับได้ถึง 65,000 รายการต่อวินาที เร็วกว่าคู่แข่งรุ่นพี่อย่าง Ethereum อย่างมาก นอกจากนี้เหรียญ SOL ยังมีค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ต่ำ ทำให้เหมาะกับการใช้งานอย่างกว้างขวาง และเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนในตลาดคริปโตอีกด้วย

4. Toncoin (TON)

Toncoin คือ เหรียญคริปโตที่พัฒนาขึ้นจากโครงการของ Telegram แอปพลิเคชันแชทยอดนิยมที่มีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 1 พันล้านคน ซึ่ง Toncoin สามารถผสมผสานกับแพลตฟอร์ม Telegram ได้อย่างไร้รอยต่อ ทำให้เกิดระบบนิเวศที่ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและใช้ฟีเจอร์ต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังรองรับการทำธุรกรรมที่รวดเร็ว ค่าธรรมเนียมต่ำ ถือเป็นอีกหนึ่งเหรียญที่มีศักยภาพในการเติบโตและน่าจับตามองในปี 2025 นี้ 

นอกจากเหรียญยอดนิยมที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเหรียญคริปโตของไทย ที่มีศักยภาพในการเติบโตไม่แพ้กัน เช่น JFIN Coin, SIX Token และ BAND

 


 

วิธีเลือกเหรียญคริปโตเพื่อลงทุน

การเลือกเหรียญคริปโตที่น่าลงทุนนั้น ต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย ดังนี้

  • พิจารณาจากเทคโนโลยี

เหรียญคริปโตที่ดีควรมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ปัญหาในโลกจริง เช่น เหรียญ Solana ที่มีจุดแข็งในเรื่องของความรวดเร็วในการทำธุรกรรม และ Ethereum ที่สามารถรองรับ dApps ได้ เพราะยิ่งเทคโนโลยีสามารถแก้ไขปัญหาที่มีอยู่และมีความก้าวหน้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสเติบโตในระยะยาวได้ดีมากเท่านั้น

  • ทีมพัฒนาและพันธมิตร

การพิจารณาทีมพัฒนาเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกลงทุนในแต่ละเหรียญ โครงการที่มีความน่าเชื่อถือมักจะมีการเปิดเผยข้อมูลของทีมอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และบทบาทในแต่ละโปรเจกต์ เพราะหากมีทีมพัฒนาที่ดี ก็มักจะสามารถสร้างโครงการที่มีคุณภาพและเติบโตได้อย่างมั่นคง อีกทั้งการที่เหรียญนั้นได้ร่วมมือกับบริษัทหรือองค์กรใหญ่ที่มีชื่อเสียง จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มากยิ่งขึ้น

  • การใช้งานจริงและชุมชน

เหรียญคริปโตที่ถูกใช้งานอย่างกว้างขวาง มีปริมาณธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง และมีแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานหลากหลาย เช่น DeFi, dApps หรือ NFT เป็นการสะท้อนความน่าเชื่อถือและศักยภาพของเหรียญนั้นในระยะยาว อีกหนึ่งสัญญาณที่สามารถช่วยบ่งบอกได้ คือ การที่ชุมชนมีความแข็งแกร่งและมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เพราะชุมชนที่ดีจะมีการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูล และแนะนำแนวทางพัฒนาโปรเจกต์ให้เติบโต ในทางกลับกัน เหรียญที่เน้นเก็งกำไรและพึ่งพาการสร้างกระแสเป็นหลัก จะไม่มีการพูดคุยในเชิงเทคนิคเท่าที่ควร ส่งผลให้เห็นถึงคุณภาพและความจริงใจของชุมชนที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ

  • มูลค่าตลาด (Market Cap) และปริมาณซื้อขาย

เหรียญที่มีมูลค่าตลาดสูง อย่าง Bitcoin และ Ethereum มักได้รับความนิยม มีความผันผวนน้อยกว่า และสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่นักลงทุนขายเหรียญเป็นจำนวนมากได้ โดยไม่ทำให้ราคาตกลงอย่างรวดเร็ว ตรงกันข้าม หากเหรียญมี Market Cap ต่ำ อาจแสดงถึงโอกาสเติบโตที่ดี แต่ก็มีความเสี่ยงสูง

 

สำหรับปริมาณการซื้อขาย (Trading Volume) จะเป็นตัวสำคัญในการทำความเข้าใจภาพรวมของตลาดคริปโต ที่แสดงถึงจำนวนเหรียญโดยรวมที่ถูกซื้อขายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง หากมีปริมาณการซื้อขายสูง ก็แสดงถึงความสนใจของนักลงทุนและความมั่นคงของราคาเหรียญ แต่หากมีปริมาณการซื้อขายต่ำ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้

 


person using black and gray laptop computer

 

ความเสี่ยงของการลงทุนในคริปโต

  • ความผันผวนของราคา

เหรียญคริปโตมีความผันผวนสูงมาก ราคาของเหรียญสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การลงทุนที่มีมูลค่าล้านดอลลาร์ในวันนี้ อาจมีมูลค่าเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์ได้ในชั่วพริบตา หากมูลค่าตกลงก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าราคาของเหรียญนั้นจะกลับมาสูงเท่าเดิมอีก ดังนั้น นักลงทุนมือใหม่ทุกคนควรมีสติ ศึกษาให้รอบคอบ และหลีกเลี่ยงการลงทุนตามกระแสที่อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบ

  • ความเสี่ยงจาก Exchange

การเลือกใช้แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายเหรียญคริปโตที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือขาดมาตราการรักษาความปลอดภัย อาจเสี่ยงต่อจากการถูกแฮก หรือระบบล่ม ทำให้ไม่สามารถซื้อขายช่วงที่ตลาดเกิดการผันผวนสูงได้ และอาจทำให้เกิดสูญเสียเงินลงทุนของผู้ใช้งาน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น นักลงทุนควรเลือก Exchange ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย และมีระบบรักษาความปลอดภัยสูง

  • ความปลอดภัยของกระเป๋าเงินดิจิทัล

ถึงแม้จะมีข้อดีในการใช้กระเป๋าเงินดิจิทัล แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงจากการถูกแฮก เนื่องจากเหรียญคริปโตเป็นเป้าหมายที่มีมูลค่าสูง อีกทั้งอาจถูกโจมตีได้จากการฟิชชิ่งหรือการรั่วไหลของข้อมูลได้ ส่งผลให้บัญชีผู้ใช้และกุญแจส่วนตัวถูกเปิดเผย ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างรวดเร็วในท้ายที่สุด ดังนั้น มาตราการรักษาความปลอดภัยในการจัดเก็บคริปโตจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เทรดเดอร์ควรให้ความสำคัญ เพื่อป้องกันการถูกโจมตีและสามารถเก็บเหรียญอย่างปลอดภัย

 


Conclusion

ณ ปัจจุบัน ถึงแม้จะมีทั้งเหรียญคริปโตที่น่าลงทุนระยะสั้นและระยะยาวอยู่ในตลาดมากมาย อย่างไรก็ตาม นี่ยังคงเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะเหรียญคริปโตในอนาคต อาจมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า นวัตกรรมล้ำสมัยและการใช้งานที่ตอบโจทย์ในวงกว้าง ดังนั้น เทรดเดอร์ควรติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในการลงทุนโปรเจกต์เหรียญคริปโตใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงก่อนลงทุนอยู่เสมอ

 

 


คำเตือน

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำทางการเงินแต่อย่างใด

 


อ้างอิง