Bitazza Thailand Blog

เปลี่ยนโลกการลงทุนด้วย DeFi ระบบการเงินในยุคใหม่ที่ไร้ตัวกลาง

Decentralized finance

 

เคยสงสัยกันหรือไม่ ว่าโลกของเราจะเป็นยังไงถ้าระบบการเงินโลกไม่มีธนาคารหรือสถาบันการเงินมาเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม การเงินแบบดั้งเดิมอาจเคยเป็นทางเลือกเดียวในการทำธุกรกรรม แต่ทุกวันนี้เรามีทางเลือกใหม่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างง่ายดายและสะดวกสบาย โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางอย่างธนาคาร นั่นก็คือ “DeFi” หรือระบบการเงินไร้ศูนย์กลางที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกรรมทางการเงินนั่นเอง บทความนี้จะพามาหาคำตอบว่า DeFi คืออะไร มีบทบาทในโลกของการเงินของเราอย่างไร และมีแนวโน้มอย่างไรในอนาคต

 


DeFi คืออะไร?

DeFi (Decentralized finance) หรือ ระบบการเงินที่ไร้ศูนย์กลาง คือ ระบบการเงินที่สร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน เพื่อสร้างระบบการเงินแบบที่ไม่มีการควบคุมจากศูนย์กลาง โดยได้มีการเปิดให้นักลงทุน นักธุรกิจ และผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่าง ๆ ได้อย่างสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น การกู้ยืม การให้ยืม การลงทุน การซื้อขายหรือการแลกเปลี่ยน โดยที่ไม่ต้องทำรายการผ่านบุคคลที่สามหรือธนาคารเหมือนระบบการเงินแบบดั้งเดิม ที่ปกติแล้วจะมีตัวกลาง เช่น ธนาคาร หรือหน่วยงานที่ควบคุมการทำธุรกรรมต่าง ๆ ขณะลงทุน 

 


เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง DeFi

DeFi เป็นระบบการเงินที่ถูกเขียนขึ้นมาจากบล็อกเชน ที่ทำงานร่วมกับสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) พร้อมกับ Oracles ที่ช่วยเชื่อมต่อข้อมูลจากโลกภายนอก โดยเทคโนโลยีเหล่านี้ทำงานร่วมกันเพื่อทำให้การทำธุรกรรมเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง มาดูกันว่าเทคโนโลยีทั้ง 3 นี้คืออะไร และทำหน้าที่อย่างไรต่อ DeFi บ้าง

 


what is blockchain-1

 

บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร?

บล็อกเชน (Blockchain) คือ เทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ที่มีฐานข้อมูลแบบกระจาย ถูกจัดเก็บเป็นบล็อก ๆ เชื่อมต่อกันผ่านอินเตอร์เน็ต โดยข้อมูลจะถูกจัดเก็บและเรียงต่อกันเป็นห่วงโซ่ ทำให้มีความซับซ้อนและมีความปลอดภัยสูง ซึ่งข้อมูลที่ถูกจัดเก็บชุดนั้น ๆ จะต้องเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน และมีความถูกต้องตรงกันทั้งหมด ถึงจะสามารถใช้งานข้อมูลเหล่านี้ได้ พูดง่าย ๆ คือ ถ้ามีข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งเกิดการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลชุดอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกันก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วย ทำให้บล็อกเชนเกิดการปลอมแปลงข้อมูลได้ยาก และมีความปลอดภัยสูง เทคโนโลยีบล็อกเชนได้ถูกนำมาใช้ดูแลสกุลเงินดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น บิทคอยน์ หรือคริปโต นอกจากนี้ยังถูกนำไปใช้งานอย่างการละทะเบียนข้อมูลทรัพย์สิน หรือการทำสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) อีกด้วย

 


what is smart contact

 

Smart Contract คืออะไร?

Smart Contract หรือสัญญาอัจฉริยะ คือ สัญญาดิจิทัลที่ถูกเขียนไว้ในระบบบล็อกเชน มักถูกนำมาใช้ในการจัดการสัญญาต่าง ๆ ระบบจะทำการจัดการข้อมูลและเงื่อนไขตามที่เราได้ระบุไว้ในสัญญาที่ได้เขียนไป โดยสัญญานั้นจะถูกจัดการแบบอัตโนมัติ โดยที่เราไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพาตัวกลางหรือบุคคลที่สาม เช่น หากมีการเขียนสัญญาเอาไว้ว่าจะต้องมีการโอนเงินเข้าระบบเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด ทางระบบก็จะจัดการสัญญานี้ให้เองโดยที่บุคคลที่สามไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวใด ๆ ทั้งสิ้น

 


Oracles และการเชื่อมโยงข้อมูลภายนอก

Oracles ทำหน้าที่เหมือนเป็นจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อข้อมูลภายนอกกับบล็อกเชนเข้าด้วยกัน เพราะโดยทั่วไปแล้ว ข้อมูลภายนอกจะไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับบล็อกเชนได้ ทำให้ไม่สามารถที่จะดึงข้อมูลจากโลกภายนอกเครือข่ายให้เข้ามาในบล็อกเชนได้ เช่น ข้อมูลของราคาตลาด หรือตัวชี้วัดข้อมูลแบบเรียลไทม์ ถ้าไม่สามารถดึงข้อมูลเหล่านี้เข้ามาได้ ก็จะส่งผลให้สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้น Oracles จึงถือว่าเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้กลไกการทำงานของบล็อกเชนทำงานได้ราบรื่นขึ้น

 


ทำไม DeFi ถึงสำคัญ?

DeFi เป็นระบบการเงินรูปแบบใหม่ ที่ทันสมัยและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับเราได้มากกว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิม ถือว่าเป็นตัวเลือกใหม่ ๆ ในการทำธุรกรรมทางการเงินให้กับเราได้ ซึ่งความสำคัญของ DeFi มีอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น 

  1. การลดการพึ่งพาตัวกลางทางการเงิน: เนื่องจากการทำธุรกรรมทางการเงินแบบ DeFi เป็นระบบการเงินแบบที่ไร้ตัวกลาง จึงสามารถที่จะลดขั้นตอนและความซับซ้อนได้ ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมโดยตรงเองได้เลย เพียงแค่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ ก็สามารถทำธุรกรรมได้ทั่วทุกมุมโลก

  2. ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล: อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า DeFi เป็นระบบการเงินที่สร้างขึ้นมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งชุดข้อมูลของบล็อกเชน จะเป็นข้อมูลชุดเดียวกันในการทำงาน หากมีความเปลี่ยนแปลงข้อมูลชุดใดชุดหนึ่งไป ข้อมูลชุดอื่น ๆ ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย นั่นหมายความว่า ทุกคนจะสามารถรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้น DeFi จึงมีความโปร่งใสต่อการเปิดเผยข้อมูลชุดนั้น ๆ ต่อผู้ใช้งาน

  3. การสร้างโอกาสทางการเงินให้กับทุกคน: หากพูดถึงการใช้บริการทางการเงินในรูปแบบอื่น ๆ แน่นอนว่าบางรูปแบบอาจจำเป็นจะต้องมีเครดิตทางการเงินที่ดีในการใช้บริการ เช่น การสมัครบัตรเครดิต ผู้ใช้บริการจะต้องมีเงินเดือนขั้นต่ำตามที่ธนาคารกำหนด และมีระยะเวลาตามเงื่อนไขของธนาคาร แต่ผู้ใช้บริการ DeFi ไม่จำเป็นที่จะต้องมีบัญชีธนาคารและมีเครดิตที่ดี ก็สามารถใช้ DeFi ได้เลยทันที


Defi coin

 

วิธีการทำงานของ DeFi

  1. การให้ยืม (Lending) และการกู้ยืม (Borrowing)

  • การให้ยืม : ผู้ใช้งานสามารถให้ยืมสกุลเงินดิจิทัลที่ตัวเองมีอยู่ได้ โดยเลือกแพลตฟอร์มหรือเหรียญที่ต้องการจะให้ยืม จากนั้นสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) จะเข้ามาจัดการธุรกรรมทั้งหมด และผู้ให้ยืมจะได้รับดอกเบี้ยที่สูงกว่าธนาคาร เนื่องจากไม่มีบุคคลที่สามมาเป็นตัวกลางในการหักภาษีหรือคิดค่าธรรมเนียมจากการใช้บริการ

  • การกู้ยืม : ผู้ใช้สามารถกู้ยืมสินทรัพย์ดิจิทัลจากผู้อื่นเพื่อนำไปลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ โดยที่ยังคงสามารถถือครองทรัพย์สินของตัวเองไว้ และไม่จำเป็นต้องเอาทรัพย์สินของตัวเองที่ถือไว้ไปลงทุนในส่วนอื่น ๆ 
  1. การซื้อขายแบบ Decentralized (DEX)

การซื้อขายแบบ Decentralized หรือ DEX (Decentralized Exchange) เป็นการซื้อขายแบบไม่พึ่งพาตัวกลางในการขาย ไม่ว่าจะเป็น โบรกเกอร์ นักลงทุน นายหน้า หรือธนาคาร แต่ใช้สัญญาอัจฉริยะเป็นตัวช่วยในการซื้อขายทรัพย์สินนั้น ๆ 

  1. การให้ผลตอบแทนผ่าน Yield Farming และ Staking

Yield Farming และ Staking มีความคล้ายกันอยู่ แต่การให้ผลตอบแทนใน DeFi แบบ Yield Farming จะมีความซับซ้อนและความเสี่ยงค่อนข้างสูงกว่า เนื่องจากเป็นการสร้างผลตอบแทนด้วยการฝากทรัพย์สินในสภาพคล่อง เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนแบบสูง ซึ่ง Yield Farming จะมีการใช้สัญญาอัจฉริยะเข้ามาเป็นตัวช่วยในเรื่องของการรับผลตอบแทนด้วย ซึ่งการใช้งาน DeFi ในไทยมักจะเป็นการรับผลตอบแทนเป็นแบบ Farming มากกว่า Staking แต่ Staking จะมีความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจากเป็นการลงทุนจากสิ่งที่มีอยู่ในกระเป๋าของตัวเองเท่านั้น ไม่สามารถใช้เงินที่อยู่ในสภาพคล่องมาใช้ฝากได้ ดังนั้น ข้อดีของ Staking อีกอย่างคือสามารถช่วยสร้างความมั่นคงของระบบไว้ได้

  1. การสร้าง Stablecoin ในระบบ DeFi

Stablecoin เป็นเหรียญดิจิทัลที่มีการออกแบบให้มูลค่าของเหรียญมีความเสถียร มักจะถูกผูกติดอยู่กับค่าเงินที่มีความเสถียรสูง เช่น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยจะมีการออกแบบไม่ให้มีการแปรผันมาก เพื่อที่จะสามารถรักษาความเสถียรของเหรียญเอาไว้ได้ ซึ่งการจะสร้าง Stablecoin ใน DeFi นั้นมีความซับซ้อนอยู่มาก ผู้ใช้งานสามารถใช้สัญญาอัจฉริยะมาช่วยควบคุมการสร้างและการแลกเปลี่ยนเหรียญ นอกจากนี้การใช้สัญญาอัจฉริยะยังเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการสร้างความปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกด้วย

 


Defi tokens

 

ประโยช์ของการใช้ DeFi

  • ความยืดหยุ่นในการใช้งาน สามารถทำธุรกรรมได้จากทุกที่ทั่วโลก เพียงแค่มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
  • ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมได้ การทำธุกรกรรมแบบไม่ผ่านตัวกลาง จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าธรรมเนียมให้ตัวกลางอย่างธนาคารได้ เช่น ค่าธรรมเนียมจากการถอนเงิน หรือค่าธรรมเนียมจากการโอนเงิน
  • ความสะดวกและรวดเร็ว ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมผ่าน DeFi ได้เลย โดยที่ไม่ต้องรอการอนุมัติหรือยินยอมจากตัวกลาง ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนซื้อขายในรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย
  • ต้นทุนต่ำ การทำธุรกรรมที่ไม่ผ่านตัวกลาง ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน หรือการโอนเงินไป ซึ่งทำให้สามารถทำธุกรรมในต้นทุนที่ต่ำกว่าระบบการเงินแบบดั้งเดิมได้


ความเสี่ยงและข้อจำกัดของ DeFi

ถึงแม้ว่า DeFi จะมีประโยชน์อยู่มาก มีความปลอดภัยและมีความโปร่งใสต่อการใช้งานสูง ทำให้ยากต่อการปลอมแปลงข้อมูล แต่ DeFi เป็นเทคโนโลยีที่ถูกเขียนขึ้นมาจากโค้ด ดังนั้นย่อมมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดบั๊กหรือข้อผิดพลาดของระบบขึ้น ช่องโหว่เล็ก ๆ นี้อาจส่งผลทำให้ข้อมูลและทรัพย์สินสูญหาย โดยที่อาจไม่สามารถกู้คืนกลับมาได้ รวมไปถึงการแปรผันอย่างรวดเร็วของตลาด อาจทำให้ผู้ใช้บริการสูญเสียทรัพย์สินไปได้จากความไม่แน่นอนของระบบ นอกจากนี้ ความซับซ้อนของข้อมูลอาจทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถเข้าใจระบบได้ทั้งหมด และอาจมีความเสี่ยงต่อการขาดทุนได้

 


ตัวอย่าง Platform ยอดนิยม

ระบบ DeFi มีแพลตฟอร์มหลากหลายที่มีหน้าที่เหมือนและแตกต่างกันออกไป เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการและความสนใจของผู้ใช้งาน ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยม เช่น

  • Uniswap: แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายแบบ Decentralized (DEX) ถูกปล่อยออกมาเมื่อพฤศจิกายน ปี 2018 ซึ่งใช้กลไกการแลกเปลี่ยนแบบ AMM (Automated Market Maker) 
  • Curve Finance: เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มสำหรับการแลกเปลี่ยนซื้อขายแบบ Decentralized (DEX) ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะใช้สำหรับแลกเปลี่ยน Stablecoin ที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ และลดความผันผวนของราคาได้
  • Aave: เป็นแพลตฟอร์มสำหรับกู้ยืมทรัพย์สินดิจิทัล โดยใช้ระบบสัญญาอัจฉริยะ และมีการให้ผลตอบแทนกับผู้ฝากเงิน

 


4 types of DeFi coin

 

เหรียญ DeFi มีอะไรบ้าง

ปัจจุบันมีเหรียญอยู่หลากหลายประเภทที่สามารถใช้ทำธุรกรรมได้ เหรียญ DeFi มักจะถูกตั้งชื่อตามเครือข่ายในบล็อกเชน หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น 

  • UNI เหรียญของแพลตฟอร์ม Uniswap ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย 
  • AAVE เหรียญจากแพลตฟอร์มการกู้ยืมทรัพย์สิน Aave 
  • COMP เหรียญจากแพลตฟอร์มการกู้ยืมและการให้ดอกเบี้ย Compound 
  • SNX เหรียญจากแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนทรัพย์สินแบบเสมือน Synthetix

 


แนวโน้มของ DeFi ในอนาคต

DeFi มีแนวโน้มที่จะเติบโตและพัฒนาอย่างขึ้นแบบรวดเร็ว เพราะเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการใช้บริการทางการเงินที่ง่ายและสะดวก แบบไม่จำเป็นจะต้องทำงานผ่านตัวกลาง และยังสร้างโอกาสให้นักลงทุนได้เข้ามาใช้งานและสร้างกำไรจากการลงทุนอีกด้วย ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้ DeFi เป็นที่น่าสนใจจากผู้ใช้งานอย่างมาก โดยในปี 2023 ได้มีการคาดคะเนการเติบโตว่าจะสามารถทำเงินเพิ่มขึ้นจาก 21,3000 ล้าน เป็น 616,1000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2033 ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะนับว่าเป็นการเติบโตที่มากกว่าเดิมเกือบ 30 เท่า ภายในเวลาเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น

 


DeFi ลงทุนยังไง

การลงทุนในระบบ DeFi สามารถทำได้หลายวิธี ผู้ลงทุนอาจยึดจากความต้องการของตนเองเป็นหลักก่อนว่าต้องการลงทุนแบบไหน โดยอาจลงทุนแบบการซื้อเหรียญที่เป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์ม DeFi เช่น การซื้อเหรียญ UNI หรือ AAVE เพื่อเก็บไว้เป็นการลงทุนระยะยาว หรือใช้เหรียญเหล่านี้ในบริการต่าง ๆ ของแพลตฟอร์ม เช่น การให้ยืมเงินหรือการสร้างสภาพคล่องเพื่อรับค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ยังสามารถลงทุนในแพลตฟอร์มที่ให้ผลตอบแทนจากการฝากเหรียญ ซึ่งผู้ลงทุนอาจศึกษาเพิ่มเติมต่อในเรื่องของการรับผลประโยชน์ไม่ว่าจะเป็น​ DeFi Farming หรือ Staking ด้วยก็ได้

 


DeFi เป็นระบบการเงินที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำธุรกรรมทางการเงินโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลาง ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายและลดขั้นตอนที่ซับซ้อนในการทำธุรกรรมได้ อย่างไรก็ตาม DeFi ก็มีความเสี่ยงที่ผู้ใช้งานอาจต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนใน DeFi ก็เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจในระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลางนี้

 


คำเตือน

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำทางการเงินแต่อย่างใด

 


อ้างอิง