Bitazza Thailand Blog

Stop Loss คืออะไร? กลยุทธ์ป้องกันความเสี่ยงในการเทรดที่นักลงทุนควรรู้

what is stop loss

 

Stop Loss เป็นหนึ่งในวิธีป้องกันความเสี่ยงที่นักลงทุนควรใช้ เพื่อหยุดความเสียหายหรือการขาดทุนให้อยู่ในระดับที่ได้วางแผนไว้ ช่วยให้ไม่สูญเสียเงินมากเกินไปหากตลาดมีความผันผวนหรือไม่เป็นไปตามที่คาด ดังนั้น Stop Loss จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เทรดเดอร์ควรเรียนรู้ และนำไปใช้ในการลงทุน

 


Stop Loss คืออะไร?

Stop Loss คือจุดตัดการลงุทน เป็นกลุยทธ์การลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขาดทุนที่มากเกินกว่าเป้าหมาย โดยกำหนดจุดที่จะหยุดลงทุนไว้ เมื่อสินทรัพย์นั้นปรับตัวลง เพื่อไม่ให้กำไรต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือไม่ให้ขาดทุนมากไปกว่าที่ตั้งใจนั่นเอง เป็นหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนที่ใช้ได้ทั้งมือเก่าและมือใหม่ และใช้ได้ทุกสินทรัพย์ ดังนั้นหากต้องการลงทุนควรศึกษาเกี่ยวกับ Stop Loss เพื่อให้การลงทุนมีความปลอดภัย

 


ประเภทของ Stop Loss 

วิธีการใช้ Stop Loss มีหลายแบบ ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกให้เหมาะสมกับการลงทุนของตนเองหรือสินทรัพย์ได้ โดยแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้ 

  • Fixed Stop Loss คือ การกำหนดจุดตัดการลงทุนไว้แบบแน่นอนตายตัวตั้งแต่เริ่มลงทุน Stop Loss จะไม่เปลี่ยนแปลงถึงแม้ว่าราคาสินทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงก็ตาม เมื่อสินทรัพย์ปรับตัวลงจนถึงระดับ Fixed Stop Loss ก็จะทำการขายสินทรัพย์โดยอัตโนมัติ
  • Trailing Stop Loss คือการกำหนดจุด Stop Loss โดยขยับจุด Stop Loss ตามราคาสินทรัพย์ โดยกำหนด Stop Loss เป็นเปอร์เซ็นต์ เช่น 5% จากราคาซื้อ แล้วกำหนด Trailing Stop Loss ไว้ที่ 10% ของราคาปัจจุบัน เมื่อสินทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้น Trailing Stop Loss ก็จะขยับขึ้นตามไปด้วย แต่หากราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงจนแตะระดับ Trailing Stop Loss ก็จะขายสินทรัพย์นั้นออก
  • Stop Limit Order การตั้ง Stop Loss ที่กำหนดเงื่อนไขราคาล่วงหน้าได้ เมื่อราคาสินทรัพย์ถึงเงื่อนไขที่ตั้งไว้ ซึ่ง Limit Order สามารถตั้งได้ทั้งซื้อและขาย โดย Stop Limit Buy คือการซื้อเมื่อราคาสินทรัพย์มาถึงจุดที่ตั้งไว้หรือต่ำกว่า ส่วน Stop Limit Sell คือการขายเมื่อราคาสินทรัพย์ขยับไปจนถึงเงื่อนไขราคาที่ตั้งไว้หรือสูงกว่า

 


Set Stop Loss Order

 

กลยุทธ์การใช้ Stop Loss เพื่อลดความเสี่ยง

การใช้ Stop Loss เพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยขายสินทรัพย์ที่ลงทุนออกไปเมื่อราคาถึงจุดที่กำหนด โดยจุดที่ตั้งไว้อาจเป็นจุดที่ขาดทุนหรือกำไรก็ได้ แต่ขายออกไปเพื่อไม่ให้กำไรลดลงหรือไม่ให้ขาดทุนมากยิ่งขึ้น โดยกลยุทธ์การตั้ง Stop Loss สามารถทำได้หลายวิธี เช่น 

  • การตั้ง Stop Loss ตามแนวรับและแนวต้าน การตั้ง Stop Loss ตามแนวรับและแนวต้านเป็นวิธีที่นักลงทุนนิยมใช้ในการบริหารความเสี่ยง โดย แนวรับและแนวต้านคือระดับของราคาสินทรัพย์ที่คาดการณ์ไว้ว่าจะไม่ขึ้นหรือลงไปกว่าจุดนั้น ซึ่งการกำหนดแนวรับและแนวต้านจะใช้ข้อมูลราคาในอดีตมาคำนวณ นักลงทุนจึงให้ความสำคัญกับแนวรับและแนวต้านมาก และเห็นว่าแนวรับและแนวต้านเป็นจุดสำคัญในการตั้ง Stop Loss 

  • การใช้ Stop Loss ร่วมกับการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) การวิเคราะห์ทางเทคนิคมีหลายวิธี โดยใช้ indicator ต่าง ๆ เพื่อคำนวณราคา เช่น Moving Average, MACD, Fibonacci Retracement หรือ Bollinger Bands เมื่อวิเคราะห์ทางเทคนิคแล้วก็สามารถกำหนด Stop Loss ตามจุดที่เหมาะสมได้ ยกตัวอยางเช่น ใช้ Moving Average วิเคราะห์ราคา และตั้ง Stop Loss เมื่อราคาตกลงไปต่ำกว่าเส้น SMA หรือ EMA ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญว่าแนวโน้มกำลังเปลี่ยนแปลง หรือใช้ Fibonacci Retracement ในการหาจุดสำคัญ เช่นระดับที่ 38.2%, 50%, หรือ 61.8% ของการปรับราคา 

  • การตั้ง Stop Loss ตามเปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นักลงทุนกำหนดระดับการขาดทุนที่ยอมรับได้ เช่น 5% หรือ 10% ของเงินลงทุน ดังนั้นหากซื้อสินทรัพย์ที่ราคา 100 บาท หากต้องการตั้ง Stop Loss 10% ก็จะตั้งที่ 90 บาทเป็นต้น โดย Stop Loss จะไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าราคาสินทรัพย์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จุด Stop Loss ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

 


 

ข้อดีและข้อเสียของการใช้ Stop Loss

Stop Loss เป็นกลยุทธ์ที่ง่ายและใช้ได้จริงทั้งกับนักลงทุนมือใหม่และมือเก๋า ซึ่งการใช้ Stop Loss ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย 

ข้อดีของการใช้ Stop Loss 

  • จำกัดความเสี่ยง การตั้ง Stop Loss ช่วยให้จำกัดการขาดทุนได้ตามที่ตั้งใจไว้ ไม่ให้การขาดทุนมากเกินไปในกรณีที่ตลาดเคลื่อนไหวไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ 
  • ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้น เมื่อมีการตั้ง Stop Loss แล้ว ทำให้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้โดยไม่ต้องตัดสินใจในสถานการณ์คับขัน
  • เพิ่มวินัยในการซื้อขาย ทำให้ตัดสินใจได้ตามแผนที่วางไว้ โดยไม่ใช่อารมณ์เข้ามามีส่วนตัดสินใจ
  • ใช้ได้กับทุกสินทรัพย์และทุกสภาวะตลาด Stop Loss สามารถใช้ได้กับทุกสินทรัพย์และตลาดทั้งขาขึ้นและขาลง 

ข้อเสียของการใช้ Stop Loss 

  • ขาดโอกาสในการทำกำไร หากตลาดมีความผันผวนอาจมีการเคลื่อนไหวในระยะสั้น การตั้ง Stop Loss ที่ใกล้เกินไปอาจะทำให้สูญเสียโอกาสในการทำกำไร เมื่อราคากลับไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้
  • ไม่เหมาะกับตลาดที่มีความผันผวนสูง หากตลาดมีความผันผวนสูง การใช้ Stop Loss เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้จัดการความเสี่ยงได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดข้อเสียจากการตั้งค่าที่ไม่เหมาะสม

 


Stop Loss Strategy In Crypto Trading

 

เปรียบเทียบ Stop Loss กับ Risk Management อื่น ๆ

การเปรียบเทียบ Stop Loss กับ Risk Management อื่น ๆ (การจัดการความเสี่ยงอื่น ๆ) จะช่วยให้เห็นถึงความแตกต่างและข้อดีข้อเสียของแต่ละกลยุทธ์ในการจัดการความเสี่ยงในการลงทุนหรือการซื้อขายในตลาดการเงิน

  • เปรียบเทียบ Stop Loss และ Take Profit

ทั้งสองเครื่องมือนี้มีวัตถุประสงค์ในการจัดการความเสี่ยงและผลกำไร แต่มีลักษณะและการใช้งานที่แตกต่างกัน โดย Stop Loss มีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดการขาดทุน ช่วยให้ตัดสินใจได้ดี ส่วน Take Profit หรือการเก็บกำไร มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ไม่พลาดกำไรที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของราคาในทิศทางที่ต้องการ

  • เปรียบเทียบ Stop Loss และ DCA (Dollar Cost Averaging) 

Stop Loss คือการตั้งจุดที่คุณยอมรับการขาดทุนสูงสุดในแต่ละการซื้อขายเพื่อจำกัดการขาดทุนเมื่อราคาตลาดเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับตำแหน่งที่เปิดไว้ ป้องกันการขาดทุนที่ไม่สามารถควบคุมได้จากการเคลื่อนไหวของตลาด ส่วน Dollar Cost Averaging (DCA) คือกลยุทธ์การลงทุนที่คุณลงทุนในจำนวนเงินเท่าเดิมในช่วงเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกเดือนหรือทุกไตรมาส โดยไม่สนใจราคาตลาด ณ ขณะนั้น เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุนในช่วงเวลาหนึ่ง การซื้อในราคาต่างๆ ช่วยให้ค่าเฉลี่ยราคาซื้อของคุณลดลงในระยะยาว การเลือกใช้ Stop Loss หรือ DCA ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และสไตล์การลงทุน หากต้องการจำกัดการขาดทุนในระยะสั้น Stop Loss อาจเหมาะสมกว่า แต่หากต้องการลงทุนระยะยาวและลดความเสี่ยงจากการซื้อในช่วงที่ราคาสูง DCA จะเหมาะสมกว่า

  • เปรียบเทียบ Stop Loss และ Cut Loss 

Stop Loss คือเครื่องมือที่ใช้ในการจำกัดการขาดทุนจากการเคลื่อนไหวของราคาในทิศทางที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยจะตั้งระดับราคาที่คุณยอมรับการขาดทุนได้ หากราคาตลาดเคลื่อนไหวถึงจุดที่กำหนดไว้ ระบบจะทำการปิดการซื้อขายอัตโนมัติ ส่วน Cut Loss หมายถึงการตัดสินใจหยุดการขาดทุนและขายสินทรัพย์หรือปิดตำแหน่งโดยไม่หวังจะฟื้นตัวจากการขาดทุนในสถานการณ์ที่เห็นว่าการขาดทุนนั้นอาจจะไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นกลับมาในระยะสั้นหรือระยะยาว เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนที่เพิ่มขึ้น เมื่อการขาดทุนไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเวลาที่คุณคาดการณ์ หรือตลาดมีสัญญาณที่ชัดเจนว่าความสูญเสียจะมากขึ้น

 


Conclusion

Stop Loss เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการจัดการความเสี่ยงในการเทรดหรือการลงทุนในตลาดการเงิน โดยเฉพาะในการจำกัดการขาดทุนให้ไม่เกินขอบเขตที่กำหนด ซึ่งช่วยให้คุณสามารถควบคุมความเสี่ยงได้อย่างมีระเบียบและมีวินัยในการลงทุน แต่การใช้ Stop Loss ก็ต้องพิจารณาถึงระดับการตั้ง Stop Loss ที่เหมาะสมและไม่ตั้งใกล้เกินไป เพราะความผันผวนในตลาดอาจทำให้การตั้ง Stop Loss ถูกกระตุ้นโดยที่ยังไม่ได้มีการฟื้นตัวของตลาดกลับมา อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยงนักลงทุนควรต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน

 

 


คำเตือน

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำทางการเงินแต่อย่างใด

 


อ้างอิง