Share this
เปิดโลก Virtual Bank คืออะไร? ทางเลือกใหม่ของการเงินยุคดิจิทัล

เมื่อทุกวันนี้เราสามารถทำธุรกรรมผ่านมือถือได้ เคยสงสัยหรือไม่ว่าทำไมเรายังต้องเดินทางไปธนาคาร? ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี การโอน หรือแม้แต่ลงทุน ทุกวันนี้สามารถทำได้ง่าย ๆ บนแอปพลิเคชัน โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา เพื่อให้ธนาคารหลุดออกจากกรอบเดิมๆ โดยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ เลยเกิดแนวคิด “ธนาคารเสมือนจริง” หรือ “Virtual Bank” ที่เป็นอีกหนึ่งก้าวที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมทางการเงินของโลก บทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับ Virtual Bank ว่าคืออะไร มีความแตกต่างอย่างไรจากธนาคารทั่วไป พร้อมทั้งสำรวจข้อดี ข้อดี และแนวโน้มอนาคตของธนาคารเสมือนจริงนี้ไปด้วยกัน
Virtual bank คืออะไร
อธิบายง่าย ๆ Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีเคาน์เตอร์ ไม่มีตู้ ATM และไม่มีสาขาธนาคาร แต่จะเป็นการให้บริการบนโลกดิจิทัลที่ยังคงสามารถทำธุรกรรมทางการเงิน และบริการทางการเงินได้อย่างครบครัน ไม่ได้แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ในโลกจริงแต่อย่างใด ผ่านการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เวลาที่ต้องการทำธุรกรรมส่วนบุคคล ธุรกิจ หรือบริการอื่น ๆ ก็ไม่ต้องเดินทางไปที่ธนาคารสาขา
คุณสมบัติหลักของ Virtual Bank
1. การใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย
- Virtual Bank มีการใช้ Big Data ที่เป็นระบบเก็บรวบรวบข้อมูลจำนวนมหาศาลและเป็นหัวใจสำคัญในการวิเคราะห์ เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบริหาร
- AI ถูกนำมาใช้ใน Chatbots เพื่อให้บริการลูกค้าอัตโนมัติ รวมถึงการตรวจจับการฉ้อโกง และการแนะนำแบบ Personalize เพื่อเสนอบริการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน
- ธนาคารไร้สาขาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อเพิ่มความโปร่งใส ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูลในการทำธุรกรรม และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลทำให้การยืนยันตัวตน (KYC) มีความปลอดภัยขั้นสูงสุด
2. ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมต่ำ
- เนื่องจากไม่มีต้นทุนจากการเกิดเปิดหน้าสาขา การใช้บุคคลากรและทรัพยากรต่าง ๆ ทำให้สามารถลดค่าธรรมเนียมการโอน ถอน และธุรกรรมอื่น ๆ ได้ อีกทั้งยังสามารถให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมด้วยเช่นกัน
3. การบริการที่สะดวก
- ผู้ใช้งานสามารถที่จะเปิดบัญชี ฝากเงิน ขอสินเชื่อ และบริการต่าง ๆ ได้ทั้งหมดผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของ Virtual Bank นั้น ๆ ทำให้ลดความยุ่งยากในการเดินทางไปที่สาขา

Virtual Bank ทำงานอย่างไร
Virtual Bank มีหลักการทำงาน ดังนี้
-
การเปิดบัญชี
สำหรับการเริ่มใช้บริการ Virtual Bank นั้นผู้ใช้งานจะต้องเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ของ Virtual แต่ละธนาคาร และทำการกรอกข้อมูลส่วนตัว อัพโหลดเอกสารที่จำเป็น ยืนยันตัวตน (KYC) และทำการฝากเงินครั้งแรก
-
การทำธุรกรรมและการเข้าถึงบริการ
เมื่อผู้ใช้เปิดบัญชีเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถที่จะเข้าถึงการทำธุรกรรมได้เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ทำให้สามารถดูยอดเงิน ทำธุรกรรม และใช้บริการเสริมต่าง ๆ ได้ทั้งหมด
-
ความปลอดภัย
Virtual Bank มีการใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ขั้นสูง โดยมีการนำ End-to-End Encryption และ Multi-factor Authentication มาใช้เพื่อปกป้องบัญชีและรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้
-
การให้บริการลูกค้า
เนื่องจากธนาคารไร้สาขามีการให้บริการบนโลกดิจิทัลเป็นหลัก ดังนั้น การบริการลูกค้าจึงมีการใช้ Chatbots เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผ่านระบบการวิเคราะห์คำถามที่พบบ่อยและการจัดเตรียมคำถามอัตโนมัติ ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว
Virtual bank ในไทยมีเจ้าไหนบ้าง
ปัจจุบันในไทยยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ณ ปัจจุบัน มี 5 กลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ที่กำลังช่วงชิงยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เพื่อปฏิวัติระบบการเงินในประเทศไทย ได้แก่
- กลุ่ม Sea Group จับมือกับ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) VGI เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
- กลุ่ม SCBX จับมือกับ KaKao Bank จากเกาหลีใต้ และ WeBank จากจีน
- กลุ่ม Lightnet จับมือกับ WeLab จากฮ่องกง
- กลุ่มธนาคารกรุงไทย (KTB) จับมือกับ AIS GULF และ OR
- กลุ่ม CP จับมือกับ Ascend Money จาก True Money และ Ant Financial Services Group จาก Alibaba
โดยในอนาคตคาดว่าจะประกาศกลุ่มที่ได้รับเลือกในช่วงกลางปี 2568 นี้ และจะสามารถเปิดให้บริการ Virtual Bank อย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2569

ตัวอย่าง Virtual Bank ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
-
Revolut
ธนาคารดิจิทัลสัญชาติอังกฤษที่นับว่าเป็นม้ามืด มีผู้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน มากกว่า 10 ล้านคนในราชอาณาจักร บริการหลักของ Revolut คือ การใช้จ่ายและโอนเงินระหว่างประเทศ การบริการบัตรเดบิตแบบ Prepaid การแลกเปลี่ยนสกุลเงิน คริปโต และบริการทางการเงินอื่น ๆ
-
Starling
Virtual Bank ที่แรกและใหญ่ที่สุดของอังกฤษ มีคนเปิดบัญชีมากกว่า 4.2 ล้านบัญชี มีจุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทันสมัย บริการเด่น และเคยได้รับรางวัล “Best British Bank” ในด้านการให้บริการบัญชีธุรกิจและบัญชีส่วนบุคคลตั้งแต่ปี 2018-2021 อีกด้วย
-
Kakao Bank
ธนาคารดิจิทัลที่ใช้เวลาเพียงแค่ 4 ปีในการเป็นอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ มีผู้ใช้มากกว่า 23.5 ล้านคน โดย KaKao Bank ได้ถูกต่อยอดมาจาก KaKao ที่เป็นแอปพลิเคชันแชทยอดนิยม ทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างสองแอปพลิเคชันนี้ได้อย่างง่ายดาย ผู้ใช้จึงสามารถโอนเงิน หรือทำธุรกรรมทางการเงินได้สะดวก
-
Nubank
Virtual Bank ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากบราซิล มุ่งเน้นการให้บริการทางการเงินที่สะดวกสบาย เข้าถึงง่าย ไม่มีค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต และอัตราดอกเบี้ยต่ำ มีผู้ใช้บริการมากกว่า 110 ล้านคน ในประเทศแถบลาตินอเมริกาอย่าง บราซิล เม็กซิโก และโคลัมเบีย

ข้อดีและข้อเสียของ Virtual bank
ข้อดีของ Virtual bank
- ความสะดวก รวดเร็ว: Virtual Bank ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินทั้งหมดเป็นเรื่องที่สะดวกขึ้นผ่านสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมภายในประเทศหรือระหว่างประเทศ ก็สามารถทำได้อย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้ว นอกจากนี้หากเกิดเหตุขัดข้อง หรือพบปัญหาระหว่างการทำธุรกรรม ก็สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาต่อคิวยาวที่หน้าสาขา เพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในสาขาธนาคารเพียงไม่กี่นาที
- มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ: Virtual Bank มีต้นทุนที่ต่ำจากการที่ไม่มีพนักงานหน้าสาขาและค่าใช้จ่ายในเรื่องต่าง ๆ ตรงกันข้ามกับการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปที่ต้องมีการใช้พนักงานและทรัพยากรในการให้บริการทางธุรกรรม ทำให้ธนาคารดิจิทัลมีต้นทุนต่ำ และสามารถให้อัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่า รวมถึงค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่าให้กับลูกค้าได้
- เข้าถึงได้ตลอดเวลา: ธนาคาดิจิทัลสามารถให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการของธนาคารได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในมุมโลก หรือ เวลาประจำท้องถิ่นคืออะไร ก็สามารถจัดการบัญชีและเข้าถึงบริการของธนาคารได้อย่างง่ายดาย
- สนับสนุนลูกค้ารายย่อยและ SMEs: สืบเนื่องจากว่า Virtual Bank มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ทำให้กลุ่มลูกค้า SME สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมและบริหารบัญชีได้ มากไปกว่านั้นการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยก็สามารถเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และอนุมัติไว
ข้อเสียของ Virtual bank
- ไม่มีสาขาจริงสำหรับการติดต่อโดยตรง: หากการทำธุรกรรมบางอย่างมีปัญหาซับซ้อน และไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้การมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานนั้นจำกัด และต้องพึ่งพาแต่เจ้าหน้าที่ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับบางคน
- มีข้อจำกัดสำหรับบางบริการ: Virtual Bank อาจไม่รองรับบริการบางอย่าง เช่น การฝากเงินสด ที่ลูกค้าต้องหาตู้ ATM เพื่อฝากเข้าบัญชีธนาคารตามวิธีดั้งเดิมก่อน จึงจะสามารถโอนไปยังบัญชีออนไลน์ได้
- การพึ่งพาอินเตอร์เน็ต: เมื่อธนาคารไร้สาขาต้องทำธุรกรรมในโลกอินเตอร์เน็ตเป็นหลัก ทำให้สามารถเกิดปัญหาทางเทคนิคได้หากเครือข่ายล่มหรือมีปัญหา อาจส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงบัญชี หรือทำธุรกรรมได้ตามที่ต้องการได้

แนวโน้มและอนาคตของ Virtual Bank
เห็นได้ชัดว่า Virtual Bank กำลังได้รับความสนใจและเป็นที่นิยมทั่วโลก ทำให้ธนาคารไร้สาขานี้มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยที่สนับสนุน คือ
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล: ในยุคที่ผู้บริโภคพึ่งพาเทคโนโลยีและมีความคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายซื้อของผ่านแอปพลิเคชันของธนาคาร ทำให้ Virtual Bank มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวกสะบายและรวดเร็วในการทำธุรกรรม
- การสนับสนุนจากภาครัฐ: ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มมีนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาทางการเงินมากขึ้น รวมถึงประเทศไทยเช่นกันที่กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณายื่นคำขอจัดตั้ง Virtual Bank
- การแข่งขันระหว่าง Virtual Bank และธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม: สืบเนื่องจาก Virtual Bank มีค่าธรรมเนียมต่ำและความยืดหยุ่นสูงกว่าธนาคารแบบดั้งเดิมที่เราคุ้ยเคย อาจทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือดมากขึ้นในอนาคต และถือว่าเป็นจุดที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เกิดการปรับตัว และพัฒนาบริการให้ดีขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Virtual Bank
Virtual Bank ต่างจาก Mobile Banking อย่างไร?
Mobile Banking เป็นแค่แอปพลิเคชันที่แต่ละธนาคารสร้างขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าทำธุรกรรมได้สะดวกขึ้น แต่ยังคงมีธนาคารที่มีสาขา มีตึกสำนักงาน มีตู้ ATM และพนักงานให้บริการอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน Virtual Bank คือ ธนาคารที่ไม่มีสาขาจริง ไม่มีตึกสำนักงาน ไม่มีตู้ ATM เพราะทุกอย่างทำผ่านมือถือหรือเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี โอนเงิน ฝากเงิน กู้เงิน ทำให้มีความยืดหยุ่นกว่า และผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมตลอดเวลา สะดวกสบายขึ้น
เปิดบัญชี Virtual Bank ต้องใช้อะไรบ้าง?
การเปิดบัญชี Virtual Bank สามารถทำได้ง่ายและสะดวกกว่าธนาคารทั่วไป โดยหลัก ๆ แล้วสิ่งที่ต้องใช้ในการเปิดบัญชี ได้แก่ ข้อมูลส่วนตัว บัตรประชาชนหรือหนังสือเดินทาง และแอปพลิเคชันของธนาคาร เพียงเท่านี้คุณก็สามารถมีบัญชีบนโลกธนาคารดิจิทัลได้ทันที อย่างไรก็ตามข้อกำหนดและข้อมูลที่ใช้ในการเปิดบัญชีอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับธนาคารต่าง ๆ แต่สามารถมั่นใจได้ว่าการเปิดบัญชีแบบดิจิทัล นั้นมีความรวดเร็วและสะดวกกว่าธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมแน่นอน
Virtual Bank ปลอดภัยหรือไม่?
Virtual Bank ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการเหมือนกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แม้ว่าการเป็นธนาคารไร้สาขาช่วยให้มีบริการทางการเงิน และเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ ผู้ใช้งานอาจเกิดความกังวลในเรื่องของ "มิจฉาฉีพ” หรือ “แฮกเกอร์” แต่ธนาคารดิจิทัลเหล่านี้มีการนำเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยระดับสูงสุดเพื่อป้องกันข้อมูลและเงินของผู้ใช้รวมถึงมาตราการรักษาความปลอดภัยต่าง ๆ เช่น การเข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption) การตรวจสอบสิทธิ์หลายชั้น (Multi-factor Authentication) เพื่อให้มั่นใจว่าการทำธุรกรรมมีความปลอดภัย และป้องการเข้าถึงบัญชีโดยไม่ได้รับอนุญาต
Virtual Bank ถือเป็นเทรนด์ของอนาคตของธุรกิจการเงิน โดยมีบทบาทเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินแบบดั้งเดิมไปสู่ดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยความสะดวก รวดเร็ว และการมีต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา และทั่วทุกมุมโลก Virtual Bank จึงไม่ใช่แค่การทำธุรกรรมทางการเงิน แต่เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งาน และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคนรุ่นใหม่ ถึงแม้จะมีข้อจำกัดบางอย่าง แต่ด้วยการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและแรงสนับสนุนจากรัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้ Virtual Bank กลายเป็นกุญแจสู่อนาคตที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ยุคใหม่ทั่วโลก
คำเตือน
*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำทางการเงินแต่อย่างใด
อ้างอิง
- enkash.com
- gfmag.com
- moneyandbanking.co.th
- dailynews.co.th
- revolut.com
- longtunman.com
- bot.or.th
- thestandard.co
Share this
- Bitazza Blog (34)
- Crypto Weekly (33)
- DAO (15)
- Beginner (14)
- mission (11)
- ความปลอดภัย (11)
- บล็อกเชน (8)
- Learning Hub (6)
- การค้าขาย (6)
- หัวข้อเด่น (6)
- ตลาด (5)
- วิจัย (5)
- Security (3)
- missions (3)
- เศรษฐศาสตร์ (3)
- Bitazza Insights (2)
- Tether (USDt) (2)
- Token talk (2)
- Trading (2)
- เกี่ยวกับการสอน (2)
- Campaigns (1)
- Crypto รายสัปดาห์ (1)
- Disclosure (1)
- Educational (1)
- Featured (1)
- TradingView (1)
- บิทาซซ่าบล็อกส์ (1)