ก่อนที่แพลตฟอร์ม Web 3 ในภาคส่วนต่างๆ เช่น การเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi), GameFi และ NFT จะเข้าถึงผู้ใช้คริปโทเคอร์เรนซี แพลตฟอร์มพวกนี้จำเป็นจะต้องถูกสร้างเป็น dApp บนบล็อกเชนเลเยอร์ 1 (Blockchain Layer 1) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของทั้งเครือข่ายเสียก่อน เพราะเหตุผลนี้เองที่ทำให้เหรียญในกลุ่มบล็อกเชนเลเยอร์ 1 เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นกลุ่มที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนเสมอมา
ในโลกของบล็อกเชนจะมีคำว่า Decentralized Application หรือ dApp หมายถึง แอปพลิเคชันที่ทำงานแบบกระจายศูนย์ ต่างจากแอปพลิเคชันในยุค Web 2 ที่ทำงานแบบรวมศูนย์ dApp พวกนี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่ออุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตไม่ว่าจะเป็น DeFi, GameFi หรือ NFT
การพัฒนา dApp เหล่านี้ นักพัฒนาไม่จำเป็นต้องสร้างบล็อกเชนใหม่ของตัวเอง แต่สามารถใช้งานบล็อกเชนที่มีอยู่แล้วเพื่อพัฒนาต่อได้ทันทีทำให้สามารถประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ไปจนถึงการได้รับการสนับสนุนจากผู้พัฒนาบล็อกเชนนั้น ๆ
อย่างเช่น Ethereum ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่มีการใช้งานกันอย่างกว้างขวางที่สุด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แพลตฟอร์ม DeFi หลายแห่งที่เริ่มแรกถูกสร้างบน Ethereum เช่น UniSwap และ Aave ได้สร้างชื่อเสียงและมูลค่าบนเครือข่ายนี้ จากพลังการประมวลผลของ Ethereum Virtual Machine (EVM) ทำให้ dApp ต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทำงานโดยการดำเนินการสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ผ่านซอฟต์แวร์นี้
นอกจากนี้ Blockchain Layer 1 ยังมี Smart Contract ให้ dApp ต่าง ๆ สามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคนเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้ใช้งานหรือคอมมูนิตี้สามารถร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง เพียงแค่เข้าสู่ระบบบนแพลตฟอร์มโดยใช้วอลเล็ตของตนเองที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายนั้น ๆ อย่างเช่น เมื่อคุณทำฟังก์ชันบน dApp เช่น การเคลื่อนไหวในเกมหรือการแลกเปลี่ยนโทเคน คุณจะต้อง "เซ็น" ในหน้าต่างที่เด้งขึ้นมาเพื่อยืนยันธุรกรรม นั่นคือสัญญาอัจฉริยะ
บล็อกเชนเลเยอร์ 1 ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานให้กับ dApp ดังนั้นการที่จะดึงให้นักพัฒนาหันมาใช้งานบล็อกเชนของค่ายใดค่ายหนึ่งจะต้องมีจุดขายที่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหรือค่าแก๊ส (Gas Fee) ที่ต่ำ รวมถึงความเร็วในการทำธุรกรรมที่สูงกว่าค่ายอื่น บวกกับจุดเด่นที่ค่ายอื่นไม่สามารถเลียนแบบได้ ไปจนถึงการส่งเสริมระบบนิเวศในด้านต่าง ๆ
คุณสมบัติของเหรียญในกลุ่มนี้จะสามารถนำมาใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมหรือค่าแก๊สได้ ตลอดจนใช้เพื่อโหวตนโยบายต่าง ๆ ที่จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของบล็อกเชน ดังนั้นหากมีการใช้งานบล็อกเชนใดมากขึ้นจะส่งผลต่อความต้องการเหรียญของบล็อกเชนนั้น ๆ จนนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าขึ้นได้
เหรียญที่อยู่ในกลุ่มนี้ เริ่มตั้งแต่ Ethereum ที่เป็นบล็อกเชนต้นแบบของการทำ dApp ตั้งแต่ยุค ICO ตามมาด้วยกลุ่มที่พยายามจะแข่งขันกับ Ethereum ไม่ว่าจะเป็น Cardano (ADA), Polkadot (DOT), Solana (SOL), Avalanche (AVAX), The Open Network (TON), Near Protocol (NEAR) และอื่น ๆ
การวิเคราะห์ว่าบล็อกเชนของค่ายไหนจะมีจำนวนผู้ใช้งานสูงกว่าค่ายอื่นสามารถพิจารณาได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นจำนวนของ dApp ในระบบ หรือการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (On-Chain) จากมูลค่าเงินที่ล็อกไว้หรือ TVL (Total Value Locked) ซึ่งจะบ่งบอกถึงมูลค่าของเงินที่นักลงทุนนำมาลงทุนผ่าน dApp ในบล็อกเชนนั้น ๆ
นอกจากนี้ ยังวิเคราะห์ได้จากรายได้ (Revenue) และค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชนนั้น ๆ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกจำนวนการทำธุรกรรมหรือกิจกรรมที่เกิดขึ้นใน dApp นั้น ๆ ยิ่งมีกิจกรรมมากเท่าไรก็จะทำให้เกิดความต้องการเหรียญของบล็อกเชนนั้น ๆ มากขึ้น รวมทั้งยังพิจารณาได้จากโทเคนที่สร้างขึ้นจากบล็อกเชนนั้น ๆ หรือ dApp ที่อยู่ในตลาดว่าได้รับความนิยมหรืออยู่ในกระแสมากน้อยเท่าไร
เหรียญในกลุ่มบล็อกเชนเลเยอร์ 1 ถือเป็นเหรียญที่นักลงทุนในโลกคริปโทเคอร์เรนซีให้ความสนใจเป็นอย่างมากและยังมีความมั่นคงสูง แต่การแข่งขันก็ค่อนข้างสูงตามไปด้วย การจะวิเคราะห์หาเหรียญในกลุ่มนี้เพื่อลงทุนจึงต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายด้าน
หมายเหตุ มุมมอง ข้อมูลความรู้ และความคิดเห็นถือมาเป็นเนื้อหาที่มาจากปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้ถือเป็นการแสดงออกจากบริษัท บิทาซซ่า จำกัดและพนักงาน เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน