Share this
Token talk ตอนที่ 1: ผ่าไส้ในกลไกบล็อกเชน เครื่องยนต์หลักในโลกสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมพลิกโฉมอนาคตธุรกิจ
เมื่อเราพูดกันถึงคริปโทเคอร์เรนซี อีกคำหนึ่งที่จะได้ยินควบคู่ด้วยเสมอก็คือคำว่า “บล็อกเชน” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนระบบสกุลเงินดิจิทัล วันนี้ Bitazza Thailand มาพร้อมกับ Token Talk แหล่งความรู้เรื่องคริปโทเคอร์เรนซีแหล่งใหม่ที่ไม่ว่าจะมือใหม่หรือมือโปรก็สามารถศึกษาได้อย่างง่ายดาย พร้อมเริ่มต้นกันด้วยการตอบคำถามที่ว่า “บล็อกเชนคืออะไรและมีความสำคัญกับคริปโทเคอร์เรนซีอย่างไร”
บล็อกเชนคืออะไร
บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายของผู้เข้าร่วมผ่านการเข้ารหัส ทำให้ทุกคนบนเครือข่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดได้ภายในเวลาเดียวกัน
บล็อกเชนเป็นฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ หมายความว่าบล็อกเชนสามารถถูกอัปเดตได้จากโหนดหรือผู้เข้าร่วมของเครือข่ายคอมพิวเตอร์สาธารณะหรือเครือข่ายส่วนตัว สิ่งนี้เรียกว่า Distributed Ledger Technology (DLT) หรือเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์
เทคโนโลยีนี้ทำให้การจัดเก็บและเข้าถึงข้อมูลมีความปลอดภัยมากกว่าระบบฐานข้อมูลแบบเดิมที่ใช้กัน เพราะข้อมูลและการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกจัดเก็บอยู่ในสมุดบัญชีหรือที่เรียกว่า Ledger ตามลำดับเวลา ทำให้บุคคลบนเครือข่ายสามารถแชร์ข้อมูลกันได้อย่างปลอดภัยเพราะข้อมูลธุรกรรมจะไม่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้โดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งบนเครือข่ายได้
ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นอีกสักหน่อย การทำงานของบล็อกเชนก็เป็นไปในทำนองเดียวกันกับหน้าเอกสารที่เป็นไฟล์ Excel ที่เต็มไปด้วยตัวเลขที่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้มีส่วนร่วมกับงานนี้ก็สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้ถ้าได้รับอนุญาต แต่แตกต่างกันตรงที่ว่าเมื่อข้อมูลเกิดการผิดพลาด คุณอาจจะต้องสร้างเอกสารนั้นขึ้นมาใหม่แทนที่จะแก้ได้บนไฟล์นั้นเลยและต้องให้คนส่วนใหญ่ที่รับผิดชอบงานนั้นเห็นด้วยเสียก่อน
“บล็อก” และ “เชน” ทำงานยังไง
คำว่า “บล็อกเชน” สะท้อนให้เห็นภาพหลักการทำงานของเทคโนโลยีบล็อกเชนและ DLT ประเภทอื่น ๆ ที่เมื่อข้อมูลที่อยู่บนบล็อกเชนถูกเข้าถึงหรือมีการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลจะถูกเก็บไว้บน “บล็อก” พร้อมกับข้อมูลที่มาจากการทำธุรกรรมอื่น ๆ
ธุรกรรมที่ถูกบันทึกไว้บนบล็อกจะถูกเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ บล็อกของข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่จะไม่มีการเขียนทับบล็อกที่มีมาก่อนหน้า บล็อกที่มีการเข้ารหัสข้อมูลเหล่านี้จะถูกเชื่อมต่อกันเป็น “เชน” เข้าด้วยกันและธุรกรรมที่เกิดขึ้นจะได้รับการบันทึกตามลำดับเวลาทำให้มีประวัติการแก้ไขที่ทุกคนในเครือข่ายเห็นได้
จินตนาการเหมือนกับรถไฟขบวนหนึ่งที่วิ่งไปตามราง โดยแต่ละตู้รถไฟคือบล็อก และรางรถไฟคือเชน การที่ผู้โดยสารสามารถขึ้นและลงได้ที่สถานีที่อยู่ตามเส้นทางนี้ เราสามารถเปรียบเทียบได้กับ "บล็อกเชน" แต่จุดเด่นอยู่ที่ว่า รถไฟขบวนนี้มีหน้าต่างขนาดใหญ่มาก แม้แต่คนที่ยืนดูข้างทางก็สามารถเห็นได้ว่าใครอยู่ในรถไฟและรถไฟกำลังเดินทางไปที่ไหน ความเร็วของรถไฟก็ขึ้นอยู่กับการจราจรในเครือข่ายและอัตราการทำธุรกรรม หากมีอุปสรรคเกิดขึ้น รถไฟก็จะเดินทางได้ล่าช้า ส่วนค่าแก๊สคืออะไร มาถึงหลายคนคงพอเดากันได้ว่าก็คือค่าธรรมเนียมที่คุณต้องจ่ายเพื่อใช้บริการนี้ ปิดท้ายด้วยเส้นทางของรถไฟแต่ละสายก็เปรียบเหมือนบล็อกเชนแต่ละเครือข่ายนั่นเอง
เนื่องจากธุรกรรมบนบล็อกเชนจะไม่สามารถถูกแก้ไขหรือดัดแปลงได้ เมื่อมีธุรกรรมที่ผิดพลาดเกิดขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างธุรกรรมใหม่ขึ้นมา และจะสามารถบันทึกธุรกรรมใหม่ได้ต่อเมื่อส่วนใหญ่บนเครือข่ายให้ความยินยอม พูดอีกอย่างหนึ่งก็เหมือนกันการที่ถ้าคุณพลาดรถไฟ คุณก็จะต้องรอรถไฟขบวนถัดไปเพื่อจะไปถึงเป้าหมายอย่างที่ต้องการ
บล็อกเชนเกี่ยวอะไรกับคริปโทเคอร์เรนซีและ Bitcoin
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 Bitcoin เกิดขึ้นในฐานะสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ใช้นามสมมุติว่า Satoshi Nakamoto ไม่ว่าใคร ๆ ก็สามารถโอนและรับ Bitcoin โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง
แต่ไม่ใช่แค่ Bitcoin เท่านั้นที่เกิดขึ้นมาในปี 2552 เทคโนโลยีบล็อกเชนก็เกิดขึ้นมาในเวลาเดียวกันเพื่อขับเคลื่อนการทำธุรกรรมของ Bitcoin และเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้นักลงทุนซื้อและขายคริปโทเคอร์เรนซีออนไลน์โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยธนาคารและองค์กรตัวกลางอื่น ๆ รวมทั้งทำให้ Bitcoin เองไม่ถูกควบคุมโดยรัฐและองค์กรใด ๆ
การเกิดขึ้นของบล็อกเชนเลยเป็นการพลิกโฉมธุรกรรมทางการเงินแบบดั้งเดิม จากแต่เดิม เมื่อเราต้องการโอนเงินไปให้คนอื่นก็จะต้องผ่านตัวกลางอย่างธนาคารที่เป็นผู้ทำธุรกรรมให้ แต่การซื้อขาย Bitcoin ทำให้เกิดธุรกรรมแบบ Peer-to-Peer ที่สามารถโอนหากันได้เลยโดยไม่ต้องมีคนกลางคอยควบคุม
สินทรัพย์ดิจิทัลทุกประเภทรวมทั้งคริปโทเคอร์เรนซีขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นหลัก โดยแอปพลิเคชันทางการเงินแบบไร้ตัวกลางหรือ (Decentralized Finance) หรือที่เรียกว่า DeFi เป็นกลุ่มแอปพลิเคชันสำหรับคริปโทเคอร์เรนซีและบล็อกเชนที่ถูกออกแบบมาเพื่อแทนที่บริการทางการเงินในปัจจุบันที่ยังต้องมีตัวกลาง
DeFi มีลักษณะพิเศษอยู่ที่ไม่ว่าใครก็ตามที่สามารถเข้าสู่แอปพลิเคชันได้ก็สามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแอป หมายความว่าผู้ใช้จะมีอำนาจโดยตรงมากขึ้นที่จะควบคุมเงินของตัวเอง
บล็อกเชนมีประโยชน์อย่างไรกับธุรกิจ
แม้บล็อกเชนจะเกิดขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนสกุลเงินดิจิทัลแรกของโลกอย่าง Bitcoin แต่ไม่ได้หมายความว่าบล็อกเชนจะทำได้เพียงแค่นั้น ยังมีการนำบล็อกเชนไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจอีกมากมาย
จากหลักการทำงานที่ทำให้มีความปลอดภัยในการเก็บและแก้ไขข้อมูลสูง บล็อกเชนเลยมีความสำคัญกับธุรกิจโดยเฉพาะด้านการซื้อขายและธุรกรรมทางการเงินเพราะช่วยจัดเก็บข้อมูลโดยได้รับความยินยอมจากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางด้านกฎหมายในภายหลัง
ยกตัวอย่างธุรกิจธนาคาร แต่เดิมต้องผ่านกระบวนการรู้จักลูกค้าหรือ Know Your Customer (KYC) ที่ยังมีบางขั้นตอนที่ล้าสมัยและต้นทุนสูง ระบบบล็อกเชนและ DLT อาจช่วยลดกระบวนการยืนยันตัวตน KYC ให้เหลือเพียง 1 ครั้งสำหรับลูกค้าแต่ละคน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใส
นอกจากนี้ ธนาคารและตลาดหลักทรัพย์ยังใช้บล็อกเชนในกระบวนการการชำระเงินออนไลน์ การจัดการบัญชี และการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
ตัวอย่างเช่น บริการหนังสือคำประกันอิเล็กทรอนิกส์ (โครงการ e-LG on Blockchain) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธ.ป.ท.) ที่เกิดจากความร่วมมือกับธนาคารอีก 6 แห่งร่วมกันจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (BCI) ขึ้นมาเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ช่วยให้บริการการขอหนังสือค้ำประกันให้มีความรวดเร็วขึ้น จากแบบกระดาษที่แต่เดิมธนาคารต้องใช้เวลา 3 – 7 วัน มาเป็นการออกหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เวลาเพียง 1 - 4 ชั่วโมงเท่านั้น ผู้รับผลประโยชน์ยังสามารถบริหารจัดการหนังสือค้ำประกันจากธนาคารหลายแห่งได้ในที่เดียวและลดความเสี่ยงที่จะถูกปลอมแปลงข้อมูลได้ด้วย
อุตสาหกรรมค้าปลีกเองก็นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาใช้เพื่อจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ การทำธุรกรรมผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้ธุรกิจสามารถทำธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของสินค้าระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ โดยเฉพาะธุรกิจที่ระยะเวลามีความสำคัญ เช่น ธุรกิจอาหารซึ่งต้องคำนึงถึงวันหมดอายุหรือคุณภาพที่อาจจะลดลงตามระยะเวลา
ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ระดับโลกอย่าง Amazon เองก็ยื่นจดสิทธิบัตรนำระบบเทคโนโลยีแบบกระจายศูนย์มาใช้เพื่อตรวจสอบว่าสินค้าเป็นของแท้หรือของปลอม
หลังจากที่คุณได้เรียนรู้เรื่องของบล็อกเชนและประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้แล้ว ถึงเวลาแล้วที่จะคุณจะเริ่มต้นเส้นทางการซื้อขายโทเคนดิจิทัลของคุณเอง! เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับฟีเจอร์และการใช้งานที่หลากหลายของ Bitazza Thailand บนเว็บไซต์ของเราได้ที่ https://blogth.bitazza.com/th/blog
ดาวน์โหลด Bitazza Thailand ได้ที่ https://bitazza.onelink.me/AGAP/9zf7et1r
แหล่งอ้างอิง
- https://www.mckinsey.com/featured-insights/mckinsey-explainers/what-is-blockchain
- https://aws.amazon.com/what-is/blockchain/?aws-products-all.sort-by=item.additionalFields.productNameLowercase&aws-products-all.sort-order=asc
- https://www.bot.or.th/en/financial-innovation/digital-finance/fintech-in-thailand/eLG.html
- https://kriptomat.io/blockchain/history-of-blockchain/
คำเตือน
- คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจํานวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
หมายเหตุ มุมมอง ข้อมูลความรู้ และความคิดเห็นถือมาเป็นเนื้อหาที่มาจากปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้ถือเป็นการแสดงออกจากบริษัท บิทาซซ่า จำกัดและพนักงาน เนื้อหาที่นำเสนอไม่ถือเป็นคำแนะนำด้านการลงทุน
Share this
- Crypto Weekly (21)
- Beginner (14)
- DAO (13)
- ความปลอดภัย (11)
- บล็อกเชน (8)
- mission (6)
- การค้าขาย (6)
- หัวข้อเด่น (6)
- ตลาด (5)
- วิจัย (5)
- Bitazza Blog (4)
- Learning Hub (4)
- Trading (3)
- เศรษฐศาสตร์ (3)
- Bitazza Insights (2)
- Campaigns (2)
- Token talk (2)
- เกี่ยวกับการสอน (2)
- Crypto รายสัปดาห์ (1)
- Disclosure (1)
- Educational (1)
- Featured (1)
- Security (1)
- บิทาซซ่าบล็อกส์ (1)