Bitazza Thailand Blog

Current Ratio คืออะไร? รู้จักตัวชี้วัดสภาพคล่องที่นักลงทุนเลือกใช้

what is current ratio

 

ในโลกของการลงทุนและการวิเคราะห์ธุรกิจ หนึ่งในปัจจัยที่นักลงทุนควรพิจารณาและให้ความสนใจ คือ สภาพคล่องทางการเงินของบริษัท ที่สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นและการอยู่รอดของบริษัทนั้น ๆ “Current Ratio” หรือ “อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียน” คือ หนึ่งในตัวชี้วัดที่ได้รับความนิยมในการแสดงถึงความมั่นคงของธุรกิจ และประเมินว่าบริษัทมีความสามารถเพียงพอในการชำระหนี้สินระยะสั้นหรือไม่ บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับ Current Ratio อย่างละเอียด พร้อมตัวอย่างวิธีการคำนวณ และแนวทางการใช้เพื่อช่วยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 


Current Ratio คืออะไร

Current Ratio คือ อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียนที่เป็นตัวชี้วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น (Short-term Liabilities) ที่ต้องชำระไม่เกิน 12 เดือน โดยใช้สินทรัพย์ระยะสั้นของบริษัท (Short-term Assets) หรืออธิบายง่าย ๆ ได้ว่า Current Ratio เป็นอัตราส่วนที่ใช้ประเมินสุขภาพทางการเงินโดยรวมของบริษัท ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีหรือไม่นั่นเอง

 


current ratio formula

 

วิธีคำนวณ Current Ratio

  • สูตรการคำนวณ Current Ratio

Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน 

ค่าที่ได้จากการคำนวณนี้จะแสดงถึงความสามารถของบริษัทในชำระหนี้สินระยะสั้น ผ่านการใช้สินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัท

  • ความหมายของตัวแปรในสูตร

จากสูตรการคำนวณอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียน ตัวแปรแต่ละตัวมีความหมาย ดังนี้

    • สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) แสดงถึงสินทรัพย์ที่คาดว่าจะเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือถูกใช้หมดไปภายใน 12 เดือน เช่น เงินสด เงินลงทุนระยะสั้น บัญชีลูกหนี้ สินค้าคงคลัง ค่าใช้จ่ายล่วงหน้า

    • หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities) คือ ภาระผูกพันระยะสั้นของบริษัทที่ต้องชำระภายใน 12 เดือนข้างหน้า เช่น เงินกู้จากธนาคาร เจ้าหนี้การค้า เงินปันผลค้างชำระ ตั๋วเงินจ่าย ค่าเช่า ค่าจ้าง ภาษีค้างชำระ 
  • ตัวอย่างการคำนวณ Current Ratio

บริษัท ABC มีข้อมูลทางการเงิน ดังนี้

สินทรัพย์หมุนเวียน = 300,000 บาท
หนี้สินหมุนเวียน = 150,000 บาท

 

เมื่อนำมาคำนวณตามสูตร Current Ratio จะได้ 

Current Ratio = 300,000/150,000 = 2.0

นั่นหมายความว่า บริษัท ABC มีสินทรัพย์หมุนเวียนเป็น 2 เท่า ของหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งทำให้บริษัท ABC มีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นได้อย่างเพียงพอ

 


การวิเคราะห์ค่า Current Ratio

  • ค่า Current Ratio ที่เหมาะสมคือเท่าไหร่?

เมื่อเราสามารถคำนวณอัตราส่วนได้แล้ว ในส่วนถัดไปคือ การวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่ได้ หากบริษัทมี Current Ratio น้อยกว่า 1.0 แสดงว่าบริษัทมีสัญญาณที่น่ากังวล เนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนไม่พอ และมีหนี้สิ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับมูลค่าของสินทรัพย์หมุนเวียน ส่งผลถึงความสามารถในการชำระหนี้ รวมถึงสภาพคล่องของบริษัทโดยตรง 

ในทางกลับกันหากผลลัพธ์ของ Current Ratio มากกว่า 1.0 หมายความว่าบริษัทนั้นมีเงินสดเพียงพอที่จะสามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้โดยไม่มีปัญหาสภาพคล่อง อย่างไรก็ตามหากค่าของ Current Ratio สูงเกินไป อาจแสดงถึงปัญหาในการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนของบริษัทได้ เช่น บริษัทอาจมีเงินสดค้างสูงเกินความจำเป็น แทนที่จะนำไปลงทุนให้เกิดผลตอบแทน หรือ มีลูกหนี้การค้าสูงเกินไป อาจแสดงถึงความสามารถในการเรียกเก็บหนี้และกระเงินสดติดขัดในระยะยาว ทั้งนี้ค่าของ Current Ratio จะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับค่าเฉลี่ยของแต่ละอุตสาหกรรม

 

  • การเปรียบเทียบ Current Ratio ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ค่าของ Current Ratio มีความแตกต่างตามกันไป ยกตัวอย่าง เช่น 

    • อุตสาหกรรมค้าปลีก (Retail Industry): มักมีสินค้าคงเหลือหมุนเวียนเร็ว เพื่อให้มั่นใจในความพร้อมของสินค้า และตอบสนองลูกค้าได้ทันที ทำให้มี Current Ratio ที่ค่อนข้างต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น
    • อุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing Industry): ในอุตสาหกรรมนี้มักมี Current Ratio สูง เนื่องจากมีสินค้าคงคลัง วัตถุดิบหรือวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้าจำนวนมาก
    • อุตสากรรมเทคโนโลยี (Technology Industry): มักมีสินค้าคงคลังน้อย เนื่องจากมีสินทรัพย์ที่จับต้องไม่สามารถจับต้องได้ เช่น ซอฟต์แวร์ และมีการหมุนเวียนทรัพย์สินที่รวดเร็ว ทำให้มี Current Ratio ต่ำ

ดังนั้น Current Ratio จึงควรใช้เพื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของบริษัทหรือธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีประโยชน์สูงสุด

 


a person using a calculator for projects

 

ข้อดีและข้อจำกัดของ Current Ratio

ข้อดีของการใช้ Current Ratio ในการวิเคราะห์ธุรกิจ

  • สะท้อนสภาพคล่องของบริษัท: การใช้ Current Ratio เป็นการชี้ให้เห็นถึงภาพรวมทางการเงินและความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้ระยะสั้นได้อย่างรวดเร็ว
  • ประเมินความเสี่ยงของความสามารถในการชำระหนี้: นักลงทุนสามารถใช้ Current Ratio เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทมีความเสี่ยงในการชำระหนี้สูงหรือต่ำ
  • เครื่องมือเปรียบเทียบ: สามารถใช้ Current Ratio ในการเปรียบเทียบสภาพคล่องระหว่างบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อวิเคราะห์ความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทต่าง ๆ และประเมินความสามารถในการรับมือกับปัญหาทางการเงินได้
  • ให้ข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้ลงทุน: นักลงทุนสามารถใช้ Current Ratio สำหรับการประเมินความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้และภาระผูกพันทางการเงิน ที่มีผลในการตัดสินใจลงทุน การปล่อยสินเชื้อ และความน่าเชื่อถือทางการเงินของบริษัท

ข้อจำกัดของ Current Ratio และข้อควรระวัง

  • ความแตกต่างของแต่ละอุตสาหกรรม: การใช้ Current Ratio นั้นไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีค่ามาตราฐาน โครงสร้างสินทรัพย์ และหนี้สินที่แตกต่างกัน ดังนั้น การเปรียบเทียบในอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน อาจไม่ก่อให้เกิดข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์แก่นักลงทุน 
  • ไม่สะท้อนหนี้สินระยะยาว: ตัวชี้วัดอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียน เป็นเพียงการแสดงให้เห็นถึงภาพรวมทางการเงิน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ที่ไม่ได้สะท้อนถึงคุณภาพของสินทรัพย์หและการจัดการในเรื่องของหนี้สินระยะยาวอย่างแท้จริง
  • โอกาสในการตีความผิดพลาด: Current Ratio ที่สูง อาจหมายถึงธุรกิจหรือบริษัทนั้นมีสภาพคล่องทางการเงินที่ดี และมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทที่มี Current Ratio สูง อาจเพราะมีหนี้สินต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนที่ต่ำในบริษัท ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางการเงินที่รุนแรงได้ 

 


the differences of Current ratio, Quick Ratio and Cash Ratio

 

ความแตกต่างระหว่าง Current Ratio, Quick Ratio และ Cash Ratio แต่ละตัวชี้วัดเหมาะกับการใช้งานแบบไหน?

เมื่อต้องวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน นอกจาก Current Ratio แล้ว ยังมีอัตราส่วนอื่น ๆ ที่นักลงทุนควรใช้เพื่อพิจารณาควบคู่กันไป ได้แก่ Quick Ratio และ Cash Ratio โดยแต่ละอัตราส่วนนั้น มีความแตกต่างและการใช้งาน ดังนี้

  • Current Ratio (อัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียน): 

ตัวชี้วัดเกี่ยวกับความสามารถของบริษัทในการชำระหนี้ระยะสั้น ที่ต้องมีการชำระภายในหนึ่งปี โดยใช้สินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด เหมาะสำหรับใช้ประเมินสภาพคล่องในภาพรวมของบริษัทหรือธุรกิจนั้น ๆ 

มีสูตรการคำนวณ คือ

Current Ratio = สินทรัพย์หมุนเวียน/หนี้สินหมุนเวียน

 

  • Quick Ratio (อัตราส่วนส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็ว)

อัตราส่วนที่ใช้วัดสภาพคล่องในการชำระหนี้ระยะสั้น ที่ไม่นับรวมสินค้าคงคลัง และจะนับเฉพาะสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับธุรกิจหรือบริษัทที่มีสินค้าคงเหลือจำนวนมากหรือมีการหมุนเวียนของสินค้าช้า

มีสูตรการคำนวณ คือ

Quick Ratio = (สินทรัพย์หมุนเวียน - สินค้าคงเหลือ) / หนี้สินหมุนเวียน

 

  • Cash Ratio (อัตราส่วนเงินสด)

ตัวบ่งชี้ที่มีความเข้มงวด รอบคอบ และระมัดระวังมากที่สุด โดยจะใช้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัท ซึ่งจะพิจารณาเฉพาะสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ทันที อย่างเงินสดและสินทรัพย์ในรูปแบบเงินสด โดยไม่จำเป็นต้องขายหรือยืมสินทรัพย์ เหมาะสำหรับการวัดความมั่นคงทางเงินของบริษัทในช่วงที่อยู่ในวิกฤติทางการเงิน

มีสูตรการคำนวณ คือ

Cash Ratio = (เงินสด + รายการเทียบเท่าเงินสด) / หนี้สินหมุนเวียน

 


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Current Ratio

  • ค่า Current Ratio ต่ำหมายความว่าอะไร?

ค่า Current Ratio ที่ต่ำกว่า 1.0 อาจเป็นสัญญาณว่าบริษัทนั้นกำลังประสบกับปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน และมีหนี้สินที่บริษัทต้องชำระภายใน 1 ปี มากกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน ที่อาจบ่งชี้ความสามารถในการชำระหนี้สินได้


  • ค่า Current Ratio เท่าไหร่ถึงเรียกว่าดี?

โดยทั่วไป Current Ratio ที่มีค่าระหว่าง 1.5 - 3.0 ถือว่าอยู่ในระดับดี และแสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นของบริษัทได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามค่าที่ดี ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ค่า Current Ratio ในอดีตของบริษัทเดียวกัน  และสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่สามารถควบคุมได้

 

  • Current Ratio ใช้วัดอะไรบ้าง?

    • ความสามารถในการชำระหนี้: Current Ratio เป็นเครื่องมือที่ชี้วัดว่าบริษัทมีสินทรัพย์เพียงพอที่จะชำระหนี้ครบภายใน 12 เดือน หรือไม่
    • ความมั่นคงทางการเงิน: เป็นการสะท้อนสภาพคล่องทางการเงินระยะสั้น หากมีค่าอัตราส่วนสภาพคล่องหมุนเวียนที่เหมาะสม ก็หมายถึงว่าบริษัทนั้นมีความั่นคง และสามารถรับมือกับหนี้สินระยะสั้นได้เป็นอย่างดี
    • สภาพคล่องของบริษัท: ใช้ Current Ratio เพื่อประเมินว่าบริษัทมีเงินสดและสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดในได้เพียงพอที่จะชำระหนี้สินได้หรือไม่
    • ความเสี่ยงในการล้มละลาย: หากในอุตสาหกรรมเดียวกันนั้น มีค่า Current Ratio ต่ำ อาจบ่งชี้ว่าบริษัทหรือธุรกิจนั้น ๆ กำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงินได้
    • เปรียบเทียบในแต่ละอุตสาหกรรม: สามารถใช้ค่า Current Ratio ของบริษัท เปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพื่อประเมินความแข็งแกร่งทางการเงิน
    • แนวโน้มการเติบโต: การติดตาม Current Ratio ช่วยให้เห็นภาพรวมว่าสถานะทางการเงินของบริษัทดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หากมีค่า Current Ratio ที่เหมาะสม อาจชี้ว่าบริษัทมีโอกาสการขยายของธุรกิจ แต่ในทางกลับกัน หากค่า Current Ratio ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ อาจหมายถึงการใช้สินทรัพย์ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจกระทบต่อการเติบโตในอนาคต


Conclusion

Current Ratio เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักลงทุนในการใช้ประเมินสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงินของธุรกิจหรือบริษัทนั้น ๆ อัตราส่วนนี้ช่วยให้นักลงทุน นักวิเคราะห์ทราบว่าบริษัทสามารถใช้สินทรัพย์หมุนเวียนในการชำระหนี้สินระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ดังนั้น การเข้าใจ Current Ratio พร้อมคำนึงถึงบริบทของแต่ละอุตสาหกรรมอย่างถูกต้อง จะสามารถช่วยลดความเสี่ยง และเพิ่มการลงทุนให้มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่ควรใช้ Current Ratio ในการตัดสินใจลงทุนเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาร่วมกับอัตราส่วนทางการเงินอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อให้นำไปสู่การตัดสินใจที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

 

 


คำเตือน

*คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง ท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ 
**บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาเท่านั้น ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำทางการเงินแต่อย่างใด

 


อ้างอิง